ประวัติโนราห์โรงครูของตระกูลศิริเสถียร
ประวัติก่อนต้นตระกูลศิริเสถียรและเรื่องโนราห์โรงครู
ก่อนที่ลูกหลานของตระกูลศิริเสถียรจะได้ทราบประวัติความเป็นมาของบรรพบุรุษต้นตระกูลของพวกเรา ผมขอย้อนเวลาขึ้นไปก่อนที่คุณทวดช็องและคุณทวดคงสองคนพี่น้องได้ปรากฏขึ้นบนโลกใบนี้ เพราะก่อนหน้านั้นไม่มีใครทราบว่าพ่อแม่ของคุณทวดทั้งสองชื่ออะไร แต่พวกเราโชคดีที่คุณพ่อเฟื่องได้บอกกล่าวถึงต้นตระกูลของเราเริ่มตั้งแต่คุณทวดช็องและคุณทวดคงเป็นต้นมานับว่าเราโชคดีมากที่ได้รู้ถึงประวัติของพวกเราว่ามาจากไหนอย่างไรและตั้งแต่นี้เป็นต้นไปพวกเราลูกหลานทุกคนจะได้สานต่อประวัติขยายกิ่งก้านสาขาออกไปซึ่งเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน ผมได้ตระหนักถึงประวัติอันมีค่านี้จึงได้ทำเวบไซต์ขึ้นมาเพื่อญาติพี่น้องของเราทั้งที่ใช้ศิริเสถียรและที่ใช้นามสกุลอื่นๆได้ติดต่อแรกเปลี่ยนความคิดเห็นและเพื่อจะได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันต่อไป
ตระกูลของเราเป็นตระกูล”ตายายโนราห์” คำว่าตายายตามความหมายของคนใต้หมายถึง”โคตร”หรือบรรพบุรุษก่อนๆที่สืบต่อกันมา เพราะว่าตายายโนราห์ของเราหรือที่เราเรียกว่า”ตาหลวง”ได้เป็นศูนย์กลางรวมญาติตั้งแต่ตั้งแต่สมัยคุณทวดช็องและคุณทวดคงซึ่งสมัยนั้นมีญาติพี่น้องแค่ 10 คนเท่านั้น (ดูตามประวัติหน้าต่อไป) ปัจจุบันนี้เรามีญาติพี่น้องนับเป็นพันคนทั้งที่ใช้ศิริเสถียรและนามสกุลอื่นๆ ต่อไปนี้ผมจะเล่าประวัติของตาหลวงและการทำโนราห์โรงครูว่าเป็นมาอย่างไรซึ่งคุณพ่อเฟื่องได้เล่าให้พวกเราลูกๆฟังเป็นบางครั้งบางคราวจนจำได้ขึ้นใจ ผมได้เขียนคำบอกกล่าวนี้และข้อมูลเพิ่มเติมต่างๆที่ผมได้มาเกี่ยวกับประวัติโนราห์ของครูนี้ ลงในหนังสือของอาจารย์นาม ศิริเสถียร ซึ่งได้พิมพ์แจกในงานวันเกิดของท่าน ดังต่อไปนี้
ประวัติโนราห์โรงครู
โนราห์โรงครูคือพิธีกรรมอย่างหนึ่งของตระกูลต่างๆในจังหวัดสงขลาและพัทลุง ตอนหลังๆจังหวัดใกล้เคียงมีทำกันด้วยเนื่องจากลูกหลานของคนพัทลุงและสงขลาได้ย้ายไปอยู่จังหวัดอื่นจึงมีการทำโนราห์โรงครูตามไปด้วย ส่วนโนราห์ใช่ว่าทุกโรงจะทำได้ การแสดงการทำมีข้อแตกต่างจากการแสดงรำโนราห์ทั่วไป หัวหน้าโนราห์หรือนายโรงจะต้องรู้พิธีกรรมนี้ว่ามีอะไรบ้างของส่วนประกอบ การปลูกโรงโนราห์ก็ต้องทำแบบโบราณหลังคามุงจาก เสาและคานต้องทำด้วยไม้และไม้ไผ่และต้องได้ความกว้างความยาวตรงตามสเป็กที่คนโบราณเคยทำมา ทั้งเชี่ยนหมาก หมากพลู เทียนไข
และบายสี ต้องมีครบตามสเป็กด้วย เครื่องเซ่นอาหารหวานคาวผลไม้ต้องจัดให้ครบโดยเฉพาะหัวหมูหนึ่งหัวต้องมี เครื่องเซ่นนี้เขาจะทำที่วางไว้บนเซิงหรือผลาในโรงโนราห์ ภายใต้หลังคาตรงแปทูเขาจะผูกผ้าขาวสี่เหลี่ยมกว้างประมาณหนึ่งเมตรเอาไว้ด้วยเรียกว่าเพดาน อันนี้เพียงอธิบายเพียงเคร่าๆในโรงโนราห์
ทำไมจึงทำโนราห์โรงครู? ตามประวัติเรื่องโนราห์เกิดขึ้นในบริเวณรอบๆทะเลสาปสงขลาคือเขตของจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลาในปัจจุบัน(ค้นดูประวัติโนราห์ได้จากเวบไซท์ของสมาคมปักษ์ใต้ในพระราชูปถัมภก์) เพราะฉนั้นผู้คนรอบๆบริเวณทะเลสาปสงขลาส่วนมากเป็นลูกหลานของคนสืบเชื้อสายมาจากโนราห์เหล่านั้น ศิลปะการรำโนราห์เป็นศิลปะที่อ่อนช้อยแต่ทะมัดทะแมงต้องเข้ากับดนตรีคือ กลอง ทับ โหม่ง ฉิ่งและปี่ คนตีเครื่องต้องตีไปตามท่ารำของคนรำ เมื่อคนรำเปลี่ยนท่ารำ คนตีเครื่องต้องเปลี่ยนจังหวะไปตามนั้น จังหวะเหล่านี้จะร้าวใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งคนรำและคนดูจะซึ้งในบทกลอนและจังหวะรำเหล่านี้ พูดอีกอย่างหนึ่งคือวิญญาณศิลปินเต็มเปี่ยมทีเดียว คนเหล่านี้คือตัวผู้เป็นโนราห์เองเมื่อตายไปแล้ววิญญาณยังเป็นโนราห์อยู่ยังไม่หายไปไหนเขายังอยู่กับลูกหลานเหลนต่อๆไป ลูกหลานเหลนเหล่านั้นก็ยังคงนับถือกราบไหว้บรรพบุรุษโนราห์ของพวกเขา เมื่อมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจอะไรขึ้นมาเขาจะบนบานต่อบรรพบุรุษของเขาให้ช่วยเหลือถ้าสำเร็จขึ้นมาเขาจะรำโนราห์โรงครูถวายหรือเกิดได้โชคลาภขึ้นมาที่เขาคิดว่าบรรพบุรุษของเขาให้มาเขาก็จะทำโนราห์โรงครูถวายเช่นกัน นี่คือเป็นที่มาที่ไปของเรื่งการทำโนราห์โรงครู แต่อย่าเข้าใจผิดคิดว่ามีการเชิญโนราห์มารำถวายแก่บรรพบุรุษผู้ร่วงลับไปแล้วเหล่านั้น แต่เป็นเรื่องกลับกันคือวิญญาณบรรพบุรุษโนราห์เหล่านั้นจะมาเข้าคนทรงแล้วรำโนราห์ให้ลูกหลานชมเสียเอง นี่คือเรื่องที่น่าสนใจน่าศึกษาซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดแปลกแตกต่างจากการทรงเจ้าเข้าทรงต่างๆ
เรื่องโนราห์โรงครูของตระกูลศิริเสถียร
มีเรื่องเล่าว่าเมื่อประมาณสัก 150 มาแล้ว คุณปู่ สง ศิริเสถียร ซึ่งอยู่ที่บ้านเทพยาเลขที่ 55 บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลป่าขาด อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตระกูลศิริเสถียร ได้ไปขึ้นตาลหลังบ้าน ขณะอยู่บนต้นตาลได้เห็นผู้คนกลุ่มหนึ่งหลายสิบคนเดินแห่รำโนราห์พร้อมทั้งแต่งตัวโนราห์และตีเครื่องบรรเลงดนตรีโนราห์รำกันมาอย่างสนุกสนาน เดินมาจากทางทิศเหนือมุ่งหน้ามาทางใต้คือมายังบ้านเลขที่ 55 นั่นเอง คุณปู่ได้ลงจากต้นตาลกลับบ้านแล้วเป็นไข้ไม่สบายหลายวันรักษาไม่หาย และอาการเป็นอยู่อย่างนี้เป็นเดือนก็ยังไม่หาย มีคนมาบอกคุณปู่ทวดคงคือพ่อของคุณปู่ให้ไปหาหมอนั่งทางในมาดูเผื่อว่าคุณปู่ถูกคุณไสย์หรือถูกเจ้าที่เจ้าทาง คุณปู่ทวดคงได้ไปหาหมอนั่งทางในคนหนึ่งแถวประตูชัย หมอบอกว่าคุณปู่ถูกตายายโนราห์(คำว่าตายายในที่นี้เราเรียกบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วว่าตายาย) และหมอนั่งทางในคนนั้นได้บอกคุณทวดคงให้ไปหาคนที่ชื่อ “ชู ฟ้าลั่น” อยู่ที่ระโนดซึ่งห่างจากบ้านเทพยาประมาณ 100 กิโลเมตร ให้ไปเชิญตายายโนราห์(บรรพบุรุษที่เคยเป็นโนราห์)มาอยู่ที่บ้านเพราะเขาต้องการจะย้ายมาอยู่ที่บ้านเลขที่ 55 คุณทวดคงก็จัดสะพายเดินทางไปยังระโนดซึ่งต้องใช้เวลาเดินเท้าทั้งไปและกลับเป็นอาทิตย์ในสมัยนั้นและยังไม่รู้ว่าคนที่ชื่อ ชู ฟ้าลั่น มีตัวตนหรือเปล่า ปรากฏว่า ชู ฟ้าลั่น มีอยู่จริงและตายยายหรือ”ตาหลวง”ที่เราเรียกกันอยู่ในปัจจุบันก็อยู่ที่บ้านของ ชู ฟ้าลั่น คุณทวดจึงได้ทำพิธิเชิญมาอยู่ด้วยที่บ้านและได้ทำโนราห์โรงครูขึ้นครั้งแรกที่บ้านเลขที่ 55 เพื่อสะเดาะเคราะห์หรือ”แก้เหมรย” ให้คุณปู่ คุณปู่จึงหายจากการไม่สบายหลังจากทำโรงครูเสร็จแล้ว การทำโนราห์โรงครูจะต้องมีคนทรงหรือร่างทรงเพื่อว่าตาหลวงหรือบรรพบุรุษโนราห์เหล่านั้นจะได้เข้าทรงแล้วรำโนราห์ให้ลูกหลานดู ครั้งแรกที่ทำโรงครูไม่มีใครรู้พิธิรีตองและคนทรงไม่มี คุณทวดคงได้ไปของร้องนายหนังตะลุงชื่อ “นกแก้ว” ให้ช่วยมาเป็นคนทรง และครั้งต่อๆมาคุณปู่เป็นคนทรงเอง และมีน้องสาวคุณปู่คือคุณย่าทองนุ่นถูกเลือกมาเป็นคนทรงอีกคน คือคุณปู่จะเป็นคนทรงต้นเชือกหรือ”ตาหลวง”ที่เป็นประธาน 4 องค์ ใน 4 องค์นั้นเป็นพระองค์หนึ่งจึงไม่กินเครื่องเซ่นหรือ”หมัรบ”และที่อยู่ทางสายคุณย่าทองนุ่น(น้องคุณปู่)อีก 13 องค์ รวมทั้งหมดเป็น 17 องค์ มีชื่อเสียงเรียงนามทั้งหมด(รายชื่อตาหลวง ที่เป็นประธาน 4 องค์ เป็นต้นเชือก ฝ่ายผู้ชาย 1 เทวดาพระม่วง 2 ญาคางเหล็ก 3 หลวงสุรินทร์ 4 หลวงสุวรรณ รายชื่อตาหลวง 13 องค์ เป็นต้นเชือก ฝ่ายหญิง 1 ญาท่วงทอง 2 ญาโถมน้ำ 3 ญาลุยไฟ 4 เทพสิงหร 5 หลวงอินทร์ 6 หลวงจันทร์ 7 ขุนพราน 8 ญาพราน 9 พรานบุญ 10 แม่นุ้ย 11 แม่เภา 12 แม่แขนอ่อน 13 แม่ใจไว) เวลาทำโนราห์โรงครู ฝ่ายที่เป็นประธาน 4 องค์จะนั่งเป็นประธานอย่างเดียวจะไม่รำโนราห์ ส่วนอีก 13 องค์รำโนราห์เป็นทั้งหมด บางองค์รำได้สวยชดช้อยตามแบบฉบับของโนราห์เลย มันเป็นเรื่องที่น่าทึ่งก็คือคนที่เป็นทรงรำโนราห์ไม่เป็นเลย แต่เมื่อตาหลวงเข้าทรงก็รำเป็นตามอากับกิริยาของแต่ละองค์ไม่เหมือนกัน บางองค์ใจร้อน บางองค์นิ่มนวล บางองค์แก่มากรำจะไม่ไหวแม้จะขึ้นไปกินเครื่องเซ่นบนโรงโนราห์ก็ขึ้นแทบไม่ไหว บางองค์รำโนราห์ได้สวยมาก บางองค์รำโนราห์ได้สองสามทีก็ให้ลูกหลานช่วยนวดท่านบอกว่าปวดเมื่อยไปหมด อากับกิริยาและการรำของแต่ละองค์จะเหมือนกันหมดทุกครั้งที่ทำโนราห์โรงครู พอจะสันนิสฐานได้ว่าคนตอนก่อนช่วงที่ตายมีความคิดมีนิสัยอย่างอย่างไรเมื่อตายไปแล้วก็จะอยู่อย่างนั้นตลอดไปไม่เปลี่ยนแปลง คนทรงหรือร่างทรงมีสองคนคือหญิงและชายตลอดมาแต่บางครั้งคนทรงคนใดคนหนึ่งได้ตายไปยังหาคนใหม่ไม่ได้ก็ต้องใช้คนทรงคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่จนกว่าจะหาคนทรงใหม่อีกคนได้ คนทรงประจำตระกูลศิริเสถียรมีดังนี้
คนทรงชุดแรก คือนายหนังตะลุงนกแก้วซึ่งเป็นคนนอกเนื่องจากตอนช่วงแรกไม่มีใครรู้และเข้าใจในการทำโรงครูจึงได้ขอเชิญนายหนังนกแก้วมาเป็นร่างทรง
คนทรงชุดที่สอง คือ คุณปู่สงกับคุณย่าทองนุ่นน้องของคุณปู่ จากสองคนนี้ต่อมาได้มีลูกหลานแตกสาขาออกไปมากมาย
คนทรงชุดที่สาม มีคุณพ่อเฟื่อง ศิริเสถียรลูกชายคนที่สี่ของคุณปู่สง และคุณป้าป้วนลูกสาวของคุณย่าเมืองพี่สาวของคุณปู่สง
คนทรงชุดที่สี่ชุดปัจจุบัน มีคุณปุ้น ศิริเสถียร ลูกชายคนที่สามของคุณพ่อเฟื่องและคุณฮิ้ว(ชื่อเล่น จำชื่อจริงไม่ได้)ลูกสาวอดีตกำนันผัน(แง้ว) คงชรัตน์ กำนันตำบลป่าขาดซึ่งเป็นหลานของคุณย่าทองนุ่นน้องสาวคุณปู่สง คุณฮิ้วเป็นเหลนของย่าทองนุ่น
พิธีกรรมการทำโรงครูตามแบบฉบับเดิม โรงโนราห์ต้องมุงด้วยจากไม่ใช้กระเบื้องหรือเหล็กสังกะสี เสาต้องใช้ไม้ไม่ใช้เหล็ก ส่วนคานต่างๆใช้ไม้ไผ่ พนักที่นั่งของโนราห์ใช้ไม้ไผ่และสัดส่วนกว้างยาวต้องให้ได้สัดส่วนตามสเป็กเดิม ในโรงโนราห์ต้องมี”ผลา”หรือหิ้งยกสูงเหนือหัวไว้สำหรับที่วางเครื่อง”หมรับ”หรือเครื่องเซ่น มีอาหารหวานคาวและผลไม้ต่างๆในจำนวนนั้นต้องมีหัวหมูต้มสุกหนึ่งหัวด้วย และต้องจุดเทียนทุกจานเครื่องเซ่นด้วย มีต้นบายสีหนึ่งต้นและมีที่แขวน”เทริด”หรือมงกุฏของโนราห์ เพราะว่าโนราห์คนแรกเป็นหลานของกษัตริย์คือหลานของขุนศรัทธา ขุนศรัทธาได้มอบเครื่องทรงชุดกษัตริย์ให้พร้อมมงกุฏคือชุดที่โนราห์ใส่รำอยู่ในปัจจุบัน นับได้ว่าโนราห์สืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ การทำโนราห์โรงครูต้องทำถึงสี่วัน เริ่มตั้งแต่วันพุธตอนเย็น โนราห์ทั้งคณะจะเข้าโรงและเริ่มแสดงตามธรรมดายังไม่มีพิธีกรรมอะไร คืนแรกนี้มีการแสดงของโนราห์ล้วนๆเพื่อความบันเทิง รุ่งขึ้นวันพฤหัสเริ่มตั้งแต่ก่อนเที่ยงโนราห์คือหัวหน้าโรงจะทำพิธีรำ
“แทงพอก”คือการแสดงท่ารำของโนราห์ 300 กว่าท่ารำ ทั้งท่าร่ายรำและขับบทกลอนจนกว่าจะจบสิ้นก็ถึงเย็นจึงเสร็จ หลังจากพักเหนื่อยแล้วโนราห์ทั้งโรงรับประทานอาหารเย็นแล้วก็เริ่มต่อ คราวนี้เริ่มพิธีกรรมจริงๆคือการ”เชื้อ”หรือขับบทกลอนเรียกเรียกให้”ตาหลวง”มาเข้าทรงในร่างทรงอาจจะใช้เวลาสักพักหนึ่ง ส่วนคนทรงก็ไม่ต้องทำอะไรอาจจะนั่งคุยกับแขกญาติพี่น้องที่มาในงานเพื่อรอเวลาตาหลวงจะมาเข้าทรง ตาหลวงต้นเชือก 4 องค์จะเข้าประทับทรงคุณปุ้นก่อนเพื่อเป็นประธานและเข้า นั่งประจำที่ในห้องของตาหลวงที่จัดไว้โดยเฉพาะ ห้องนี้เป็นของตาหลวงโดยเฉพาะไม่มีคนอื่นนอนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ต่อจากนั้นตาหลวงอีก 13 องค์ก็เข้าประทัยร่างคุณฮิ้วทีละองค์และเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวแบบโบราณคือชุดนุ่งจูงกระเบน ตาหลวงที่ประทับทรงในคุณปุ้นจะลงไปทำพิธีปาข้าวสารรอบๆโรงโนราห์กันไม่ให้ผีแอบผีพายนอกเข้ามารบกวน ต่อจากนั้นก็จะเรียกลูกหลานเหลนให้มาชุมนุมในโรงโนราห์เพื่อตาหลวงจะได้เห็นหน้าซึ่งตาหลวงจะมีความสุขมากที่เห็นลูกหลานมากันเต็มไปหมด ตาหลวงสามารถรู้ว่าคนไหนเป็นลูกหลานในหมู่คนที่กำลังดูการทำพิธีกรรมเป็นร้อยๆคน(ผู้เขียน-คิดว่าที่ตาหลวงมาเข้าทรงเหมือนกับตาหลวงได้กลับมายังโลกมนุษย์อีกครั้งโดยใช้ร่างกายของคนทรงเป็นทางผ่านที่สามารถพูดโต้ตอบกับลูกหลานได้เหมือนกับยังมีชีวิตอยู่ หรืออีกนัยหนึ่งได้มาเกิดใหม่ชั่วประเดี๋ยวประด๋าวอีกครั้ง) เมื่อพอสมควรแก่เวลาตาหลวงก็ขึ้นไปบนบ้านเข้านั่งประจำเป็นประธานในห้อง ต่อจากนั้นหัวหน้าโรงโนราห์ก็จะ”เชื้อ”โดยการเรียกชื่อตาหลวงเป็นรายบุคคลให้มาเข้าประทับทรงและลงมารับประทานของเครื่องเซ่นในโรงโนราห์ การรับประทานเครื่องเซ่นตาหลวงไม่ได้รับประทานเหมือนคน คือตาหลวงจะถือเทียนขึ้นไปส่องดูอาหารบนผลาในโรงโนราห์ว่ามีครบทุกอย่างตามแบบฉบับหรือไม่ เสร็จตาหลวงก็จะรำโนราห์ให้ลูกหลานและชาวบ้านดู พอถึงตรงนี้ต้องหมายเหตุว่าคนทรงหรือคุณฮิ้วไม่เคยหัดรำโนราห์มาก่อนเลยและรำโนราห์ไม่เป็นเลย แต่เมื่อตาหลวงเข้าทรงและรำสวยงามถูกต้องตามแบบท่ารำของโนราห์ การรำสวยรำเก่งอ่อนช้อนขึ้นอยู่กับความสามารถของตาหลวงแต่ละองค์เพราะว่าแต่ละองค์รำไม่เหมือนกันคือว่ารำเก่งไม่เท่ากัน พอตาหลวงรำเสร็จก็นั่งลงบนพื้นในโรงโนราห์เพื่อนกินไฟแสงเทียนสามครั้งและกินหมากเมื่อบ้วนปากเสร็จแล้วก็จะลุกขึ้นเดินขึ้นบ้านเข้าห้องตาหลวงแล้วโนราห์ก็”เชื้อ”เรียกตาหลวงองค์ต่อไปให้เข้าประทับทรงและองค์ต่อๆไปจนกว่าจะครบ 13 องค์แต่คืนแรกนี้เข้าประทับทรงได้แค่สี่หรือห้าองค์เท่านั้นกินเวลาไปถึงสี่ห้าทุ่ม ก็ต้องพักเอาไว้วันพรุ่งนี้ต่อ โนราห์ก็หมดแรงเพราะต้องตีเครื่องเชิดเครื่องและขับบทกลอนเรียกตาหลวงก็เหนื่อยกันเต็มที่ คืนนี้การแสดงโนราห์ไม่มีจึงหยุดแค่นี้
รุ่งขึ้นวันศุกร วันนี้เริ่มเรียกตาหลวงที่ยังเหลืออยู่ยังไม่ได้เข้ามารับประทานเครื่อง”หมรับ”และรำโนราห์ ก็จะทำต่อกันวันนี้ให้เสร็จเลย ตาหลวงทุกองค์ก็ได้มารับประทานเครื่องหมรับและรำโนราห์ให้ลูกหลานชมทุกองค์ แต่บางองค์ท่านแก่มากเดินไม่ค่อยไหวแค่รำสองสามทีก็หยุดนั่งลงกินหมาก บางองค์รำสวยมากชื่อว่าแม่แขนอ่อน องค์นี้ต้องใส่ชุดเโนราห์จึงจะรำ ท่านรำได้งดงามชดช้อย บางองค์เคยเป็นโนราห์ผู้ชายรำอย่างทะมัดทะเมง บางองค์รำเป็นนิดหน่อยและรำไม่ค่อยจะเป็นจังหวะ องค์นี้ใจร้อนชื่อว่าแม่ใจไวทำอะไรรวดเร็วทันใจ ตอนท่านยังมีชีวิตอยู่ท่านคงจะหัดรำโนราห์แต่เนื่องจากท่านใจร้อนก็คงยังคาราคาซังอยู่แค่นั้นผมจะถามท่านหัดรำนานเท่าไรแต่กลัวท่านจะเฉ่งเอาเลยไม่กล้าถาม ท่านพยายามจะรำท่าต่างๆที่คนอื่นเขารำแต่ทำไม่ได้ดี บางทีก็เงยขึ้นไปถามตามหลวงที่ประทับเป็นประธานท่านโผล่หน้าออกมาดูแม่ใจไวรำทางหน้าต่าง ตาหลวงที่เป็นประธานต้องส่ายหน้า ดูอากับกิริยาของท่านแล้วคงจะตอบว่ารำไม่เข้าท่า ตอนสุดท้ายเมื่อรำเสร็จทุกองค์แล้ว ตาหลวงจะนั่งอยู่ในโรงโนราห์ให้ลูกหลานทั้งหมดรดน้ำดำหัวคือรดน้ำผู้ใหญ่ที่เราทำกันโดยตักน้ำใส่ขันแล้วรดลงบนมือของตาหลวง ช่วงนี้ตาหลวงดูจะมีความสุขมากที่มีลูกหลานเต็มไปหมด ตามที่ผมสังเกตุดูอากับกิริยาตาหลวงก็เหมือนคนธรรมดาไม่มีอาการสั่นแล้วก็นั่งคุยกับลูกหลานอย่างคนธรรมดาสามัญ ถ้าให้ผมสันนิฐานผมคิดว่าเหมือนตาหลวงได้กลับมาเกิดเป็นคนในโลกมนุษย์อีกครั้งได้เห็นหน้าตาของลูกหลานที่ขยายแตกกิ่งก้านสาขาเป็นร้อยเป็นพัน การเข้าทรงก็คือการได้สัมผัสกับโลกมนุษย์อีกครั้ง ส่วนคนทรงก็ถูกปิดสวิทชั่วคราวโดยไม่รู้อะไรเกิดขึ้นมั่งในระหว่างที่ตาหลวงเข้าทรง เมื่อผมเปิดวีดีโอให้คุณฮิ้วดูตอนตาหลวงออกไปแล้วก็รู้สึกทึ่งมากที่ตัวเองรำโนราห์ได้เช่นนั้น เรื่องการถ่ายวีดีโอก็เหมือนกันครั้งแรกที่ทำโรงครูที่บ้านกำนันแง้วพ่อของคุณฮิ้วมีนายอำเภอเพื่อนของกำนันมาถ่ายวีดีโอขณะทำโรงครูโดยไม่ได้รับอนุญาตปรากฎว่าภาพไม่มีเลยวีดีโอดำหมดทั้งเทป ตอนที่ผมทำครั้งแรกเมื่อปี คศ1991 ผมขออนุญาตจากตาหลวงถ่ายวีดีโอเป็นอันว่าไม่มีปัญหานับว่าเป็นครั้งแรกที่ทำโนราห์โรงครูได้บันทึกไว้ในวีดีโอ ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 8-11 สิงหาคม 2550 ผมก็ได้บันทึกไว้ทั้งหมด แต่ตาหลวงบอกว่าอยากให้ไว้ดูในหมู่ลูกหลานไม่อยากให้กระจายไปสู่คนนอก ส่วนเหตุผลผมก็ไม่ทราบ แต่ผมคิดว่าตาหลวงคงจะให้ไว้เฉพาะลูกหลานคนที่เชื่อนับถือ ส่วนคนอื่นไม่เกี่ยวข้องไม่เชื่อคงจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เมื่อเสร็จการเข้าประทับทรงของวันนี้แล้ว ตอนค่ำวันนี้ก็มีการแสดงของโนราห์เพื่อความบันเทิงตามเรื่องตามราวเป็นอันว่าจบไปอีกวัน
วันเสาร์วันสุดท้าย เรียกว่าวันส่ง วันนี้เริ่มเข้าประทับทรงตั้งแต่เที่ยงตาหลวงจะขึ้นไปบนที่วางเครื่องเซ่นแล้วให้เอาลงมาวางไว้บนพื้นในโรงโนราห์ทั้งหมดแล้วตาหลวงจะรำโนราห์ทั้ง 13 องค์
แต่รำทีเดียวเข้าทยอยมาทีละองค์ ตอนนี้น่าทึ่งในการรำของตาหลวงมากเพราะใช้เวลาอันสั้นให้ตาหลวงทุกองค์รำกันเหมือนบทสรุปองค์ละไม่ถึงนาทีดูเหมือนภาพยนต์ที่ถูกตัดต่อไม่แนบเนียนคือมีกระตุกช่วงที่เปลี่ยนฉากหรือเปลี่ยนตาหลวงของแต่ละองค์ เพราะตาหลวงแต่ละองค์การรำและความอ่อนช้อยไม่เหมือนกันจึงเห็นได้ชัด ส่วนแม่ใจไวคนสุดท้ายยิ่งรำชัดเจนแบบสไตล์ของท่าน แม่ใจไวถูกให้อยู่อันดับสุดท้ายทุกครั้งตั้งแต่โบราณมา เมื่อรำครบทุกองค์แล้วตาหลวงขึ้นไปบนบ้านแล้วก็ออกจากร่างคุณฮิ้วคือตาหลวงทั้งสิบสามองค์ออกไปก่อน ส่วนตาหลวงที่เป็นประธานประทับที่คุณปุ้นยังอยู่ต่อ ตอนช่วงนี้ตาหลวงอนุญาตให้ลูกหลานเข้ามาขอพรหรือขอให้ช่วยเหลือเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจหรือถามทุกข์สุข ใครจะถามตาหลวงอะไรหรือใครจะบนอะไรต่อก็มาว่ากันช่วงนี้ ถ้าใครได้รับความสำเร็จตามที่ตัวบนไว้ก็ต้องมาแก้บนด้วยการทำโรงครูโนราห์ ไม่อย่างนั้นตาหลวงจะถามถึงและทวงถามเรื่องที่จะแก้บน แต่ตาหลวงไม่เคยทำร้ายลูกหลาน ตาหลวงสอนลูกหลานด้วยธรรมะธรรมโม ตาหลวงนับถือพระพุทธเจ้านับถือพระสงฆ์ไหว้พระสงฆ์ สมัยที่ผมบวชเป็นพระกลับไปเยี่ยมโยมพ่อเฟื่องและโยมแม่ที่บ้าน ตาหลวงอยากคุยด้วยก็เข้าทรงคุนพ่อเฟื่องแล้วก็เข้ามายกมือไหว้ผม เอามือลูบหลังผมด้วยสีหน้าตาหลวงที่บ่งบอกถึงความพออกพอใจ
เพราะฉนั้นตาหลวงทุกองค์คือบรรพบุรุษของเราที่มีชีวิตอยู่ในสมัยที่สร้างเมืองพัทลุงใหม่ๆ บางคนหรือบางองค์เป็นนักรบเสนาบดีเช่นพระยาคางเหล็ก ท่านเป็นผู้นำทัพออกสงครามสู้รบกับพม่าในสงคราม 9 ทัพ ทางหัวเมืองปักษ์ใต้ซึ่งเป็นสงครามครั้งสุดท้ายระหว่างไทยกับพม่า แต่เราเรียกตาหลวงองค์นี้ว่าญาคางเหล็กซึ่งชอบคนกล้าคนจริงคนใจเป็นนักเลง ตอนนี้ท่านชอบติดสอยห้อยตามคอยคุ้มครองคนกล้าแห่งตระกูลศิริเสถียรอยู่หนึ่งท่าน ทุกครั้งที่ทำโนราห์โรงครูตาหลวงองค์ที่เป็นประธานจะไม่อนุญาตให้ญาคางเหล็กมาเข้าทรงเพราะท่านจะแผลงฤทธิ์มากไม่มีใครเอาท่านอยู่ โดยเฉพาะพระยาคางเหล็กนี้มีอยู่ในประวัติของเมืองพัทลุงจริง ส่วนเทวดาพระม่วงท่านเป็นพระซึ่งมีอยู่องค์เดียวในตาหลวงทั้งสิบเจ็ดองค์ ท่านจะเป็นประธานในการทำพิธีกรรมโนราห์โรงครู ตาหลวงของเรามีอยู่แค่สิบเจ็ดองค์ไม่มีการเพิ่มจำนวนตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ตามที่ผมทราบมาว่า ตาหลวงหรือตายายโนราห์ของตระกูลอื่นๆมีการเพิ่มขึ้นด้วยเช่นคนที่เคยเป็นทรงมาก่อนเมื่อตายไปก็จะได้เป็นตาหลวงอีกองค์คือเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ บางตระกูลลูกหลานไม่สามารถทำโนราห์โรงครูได้ก็ไม่ได้ทำกันในที่สุดตาหลวงของพวกเขาก็ถูกลืม แล้วก็จางหายไปในที่สุด แต่เมื่อผมลองสอบถามจากหัวหน้าโรงโนราห์ว่าตระกูลอื่นเขามีตาหลวงชื่อคล้ายตาหลวงของเราบางองค์ด้วย แสดงว่าตระกูลโนราห์อาจจะมาจากตระกูลเดียวกันคือตระกูลที่อาศัยอยู่รอบๆทะเลสาปสงขลาช่วงเขตต่อระหว่างจังหวัดสงขลากับจังหวัดพัทลุง แล้วต่อมาลูกหลานได้แตกกิ่งก้านสาขาขยายวงกว้างออกไป ตายายโนราห์ก็ได้เพิ่มขยายขึ้นด้วยตามประชากรที่เพิ่มเพราะจำนวนคนที่รำโนราห์ก็เพิ่มขึ้นตามประชากร เมื่อโนราห์เหล่านั้นตายไปแต่วิญญาณศิลปินยังอยู่ แล้วทำให้เกิดตายายโนราห์โรงครูอีกตระกูลหนึ่ง ทั้งหมดนี้เป็นข้อสันนิสฐานของผมเองไม่ได้อ้างอิงทางประวัติศาสตร์เพราะยังไม่มีใครเขียนเรื่องนี้ หรือมีคนเขียนแต่ผมไม่ทราบ อันนี้เป็นความคิดเห็นของผมอย่างเดียวเพื่อเป็นการชี้ช่องทางให้คนรุ่นหลังค้นคว้าหาความจริงต่อไป
ค่าใช้จ่ายในการทำโรงครูแต่ละครั้งต้องใช้เงินมาก ค่าทำในปัจจุบัน(พ.ศ.2550)อยู่ในวงเงินประมาณ 80,000-100,000 บาทแต่ละครั้ง ผมเคยทำแก้บนเมื่อสิบห้าปีที่แล้วใช้เงินไป 60,000 บาท เหตุที่ผมมาแก้บนโนราห์โรงครูเพราะได้บนไว้กับตาหลวงว่า 1.ขออย่าให้ติดทหารเพราะถ้าติดทหารโครงการที่วางไว้ก็จะเสียหมด 2.ขอให้ได้ไปเมืองนอก 3.ขอให้มีเงินแสนคือแสนบาทเพราะในสมัยเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้วผมคิดว่าเงินแสนมันมากมายเหลือเกินผมยังคิดอยู่ว่าผมขอมากไปหรือเปล่า ปรากฏว่าทั้งสามอย่างได้ลุล่วงไปโดยดีไม่ติดขัด แม้ไปเมืองนอกไม่รู้จักใครสักคนแบบไปตายเอาดาบหน้าก็ยังเอาตัวรอดมาได้และอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนเงินแสนบาทหาไม่ยากเมื่ออยู่เมืองนอก เมื่อได้ครบสามอย่างตามที่ขอผมก็กลับมาทำโรงครูแก้บนเมื่อปี คศ 1991 และเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2550 น้องสาวของผมคือคุณมัสยา โพธา เกิดได้โชคลาภก็ไปทำโรงครู ผมเลยถือโอกาสไปร่วมและเยี่ยมตาหลวงด้วย ตอนสุดท้ายที่ลูกหลานเข้าไปขอพรและขอหวยขอเบอร์ขอให้มีโชคทีลาภต่างๆนาๆ ผมก็ยังห่วงอยู่ว่าตาหลวงจะรับไหวหรือคงเวียนหัวแน่ ผมเลยเข้าไปกราบท่านแล้วบอกตาหลวงว่าผมไม่ขออะไรตาหลวงแล้ว แต่ผมขอขอบคุณตาหลวงที่ผมได้อยู่เมืองนอกสบายและขอให้ผมอยู่สบายตลอดไปแค่นี้ก็พอครับ หลังจากขับรถจากสงขลาขึ้นมากรุงเทพพอมาถึงสุราษฏร์ลูกชายคนโตของผมโทรมาจากซิดนี่ย์บอกว่าพ่อถูกจับเบอร์ที่ซื้อไว้ได้รางวัลที่หนึ่ง ตั๋วเครื่องบินไปกลับ กรุงเทพ-ซิดนี่ย์ หนึ่งที่นั่งพร้อมด้วยที่พักโรงแรมมนเทียนสองคืน รวมราคาสักห้าหกหมื่นบาทเห็นจะได้ ผมได้ซื้อเบอร์รางวัลตั๋วเครื่องบินในรายการกุศลที่ซิดนี่ย์และผมได้ลืมไปแล้วแต่ดันมาถูกได้ก็ไม่ทราบว่าโชคลาภหรือกุศลชักนำหรือตาหลวงช่วยก็สุดที่จะเดาได้ถูก คิดว่าเป็นโชคลาภของผมนิดหน่อยที่ไม่เคยมีกับเขาเลยในชีวิตก็แล้วกัน…
แปลก (ลุงแปลก) ศิริเสถียร
ซิดนี่ย์ ออสเตรเลีย
16 ตุลาคม 2550
ผู้เรียบเรียง