พระยาคางเหล็กหรือญาคางเหล็ก
ประวัติ
พระยาคางเหล็กหรือพระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) เดิมชื่อ “ขุน” เป็นบุตรชายของพระยาราชบังสันตะตา เจ้าเมืองพัทลุงสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้รับการแต่งตั้งเป็น เจ้าเมืองพัทลุงใน พ.ศ. ๒๓๑๕สมัยกรุงธนบุรี นับเป็นครั้งแรกที่เชื้อสายสกุล “ณ พัทลุง” ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองเมือง เมื่อเมืองตั้งอยู่ที่ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง และสืบต่อมาจนย้ายเมืองมาอยู่ในที่ปัจจุบัน สมัยรัชกาลที่ ๖
ผลงาน
พระยาคางเหล็ก เป็นนักปกครองที่มีความสามารถสูง ดังจะเห็นได้จากการปรับเปลี่ยนท่าทีตามนโยบายของส่วนกลางมาตลอด เช่น ในสมัยกรุงธนบุรี ได้เปลี่ยนวิธีอิสลามมานับถือพุทธศาสนา ต่างเล่ากันว่า เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีรับสั่งถามขุนนางที่เข้าเฝ้าอยู่ว่า “ใครจะตามเสด็จขึ้นสวรรค์ได้บ้าง” ผู้เข้าเฝ้าต่างคนต่างนิ่งอยู่ แต่พระยาคางเหล็กกราบทูลว่า “เป็นอันเหลือวิสัยผู้หาบุญมิได้ จะตามเสด็จขึ้นสวรรค์ในเวลาที่มีชีวิตอยู่ ข้าพระพุทธเจ้าจะได้ตามเสด็จเมื่อหาชีวิตไม่แล้ว” พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯว่าพูดถูก นี่เป็นคำพูดที่กล้าทูล จึงได้รับนามว่า “คางเหล็ก” แม้จะมีการเปลี่ยนแผ่นดินในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ พระยาคางเหล็ก ก็ยังได้รับพระกรุณา โปรดเกล้าฯ จากรัชกาลที่ ๑ ให้คงรับราชการเป็นเจ้าเมืองพัทลุงต่อไป และได้ส่งธิดาไปถวายตัวเป็นเจ้าจอมด้วย คือเจ้าจอมมารดากลิ่น ในพระองค์เจ้าสุทัศน์ (ต้นสกุลสุทัศน์ ณ อยุธยา) นอกเหนือจากการเป็นนักปกครองที่มีความสามารถสูงแล้ว พระยาคางเหล็กยังเป็นนักรบที่กล้าหาญ เช่น เมื่อคราว “สงครามเก้าทัพ” ใน พ.ศ. ๒๓๒๘ ได้ร่วมมือกับพระมหาช่วย พระภิกษุผู้มีความรู้ทางไสยศาสตร์แห่งวัดป่าลิไลก์ ปลุกระดมมหาชนชาวพัทลุงต่อสู้พม่าเพื่อปกป้องแผ่นดินไว้ด้วยชีวิต ต่อจากนั้นได้เป็นแม่กองทัพเรือคุมทัพเมืองพัทลุงและเมืองจะนะ ยกไปตีเมืองปัตตานีร่วมกับทัพหลวง จนตีเมืองปัตตานีได้ในที่สุด รวมเวลาที่พระยาคางเหล็กว่าราชการเมืองพัทลุงอยู่ ๑๗ ปี โดยถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี
พ.ศ. ๒๓๓๒ แม้ระยะเวลาจะผ่านไปเป็นเวลานานแล้วก็ตาม แต่คุณงามความดี ความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ความซื่อสัตย์ของท่าน ยังอยู่ในความทรงจำของชาวพัทลุงสืบไป